ประวัติสมาพันธ์

     สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ อักษรย่อว่า "สสภช" ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The National Federation of Motion Pictures and Contents  Associations " ใช้อักษรย่อว่า “MPC” เดิมชื่อ สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2534 เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ที่เกิดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพที่กระจัดกระจายอยู่ในวงการ ดังนั้น จึงได้มีการรวมกลุ่มกันระหว่างบุคคลในวงการภาพยนตร์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมของความคิดเห็น การพัฒนาการดำรงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้มีการเติบโตยิ่งขึ้นและมั่นคงสืบไป โดยมี 11 สาขาอาชีพ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการใน สาขาผู้อำนวยการสร้าง สาขาโรงภาพยนตร์ สาขาผู้จัดจำหน่าย สาขาผู้กำกับ สาขาดารา - นักแสดง สาขาทีมงานสร้าง สาขานักพากย์ สาขาแลป สาขาผู้สื่อข่าวบันเทิง สาขานักวิชาการภาพยนตร์ สาขาผู้ผลิตและจำหน่ายวีดีทัศน์ โดยมีคณะกรรมการสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ เข้ามาบริหารจัดการองค์กร ให้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยมีนายกสมาคมสมาพันธ์ ดังนี้
 
 
  1. นายไพจิตร ศุภวารี  ( นายกสมาคม ปี 2534 - 2537 )
  2. นายสุพจน์ พิสิฐวุฒินันท์  ( นายกสมาคม ปี 2538 - 2541 )
  3. นายคมน์ อรรฆเดช  ( นายกสมาคม ปี 2542 - 2545 )
  4. นายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ  ( นายกสมาคม ปี 2546 – 2548 )
  5. นายชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง  ( นายกสมาคม ปี 2549 – 2550 )
  6. นายจาฤก กัลย์จาฤก  ( นายกสมาคม ปี 2550 – 8 ตุลาคม 2552 )
  7. นายชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง  ( รักษาการนายกสมาคมตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2552 – 2 เมษายน 2553 )
  8. นายจาฤก กัลย์จาฤก  ( ประธานสมาพันธ์ ปี 2553 - 2555 )
  9. นายวิสูตร พูลวรลักษณ์  ( ประธานสมาพันธ์ ปี 2555 – 2561 )
  10. นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ  ( ประธานสมาพันธ์ ปี 2561 - 2564 )
  11. นายธนกร ปุลิเวคินทร์  ( ประธานสมาพันธ์คนปัจจุบัน )


     ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 นายกสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ โดยคุณจาฤก กัลย์จาฤก ได้จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี เพื่อปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” ให้สอดคล้องกับการรวมตัวของสมาคมผู้ประกอบการต่างๆ ให้เป็น “สมาพันธ์” อย่างสมบูรณ์ประกอบกับการประกาศใช้ “พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551” ของกระทรวงวัฒนธรรมได้นิยามคำว่า วีดิทัศน์ ให้หมายรวมอุตสาหกรรมด้านแอนิเมชั่น เกมส์ และ คาราโอเกะ เข้ามารวมด้วย

 ในปัจจุบันสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเป็นที่รวมตัวของสมาคมผู้ประกอบการภาพยนตร์และ วีดิทัศน์ทั้งสิ้น 13 สมาคม ดังต่อไปนี้
  1. สมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์
  2. สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
  3. สมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ
  4. สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย)
  5. สมาคมนักพากย์ภาพยนตร์
  6. สมาคมเทคนิค ไทยแลป ฟิล์มภาพยนตร์
  7. สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย
  8. สมาคมไทยธุรกิจอิเล็คโทรนิคบันเทิง
  9. สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย
  10. สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  11. สมาคมอุตสาหกรรมเพลงไทย
  12. สมาคมนักข่าวบันเทิง
  13. สมาคมเกมและสื่อดิจิตอลบันเทิง
     การรวมตัวของคนในวงการวิชาชีพเป็นสมาพันธ์สมาคมฯนั้น เป็นการรวมพลังตั้งมั่นที่จะผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ให้ก้าวไกลสู่สากลได้สำเร็จ ด้วยความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันของบุคคลในวงการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และเป็นความร่วมมือที่เป็นความหวังของอนาคตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยพร้อมที่จะสร้างศักยภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความเข้มแข็ง และกำกับดูแลกันเองได้ในระดับมาตรฐานสากลต่อไป

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้