กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

 

“สมาพันธ์ภาพยนตร์” จับมือเน็ตฟลิกซ์ เปิดกองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์
เน็ตฟลิกซ์ร่วมสมทบทุนเป็นจำนวนเงิน 16 ล้านบาท (5 แสนเหรียญสหรัฐฯ โดยประมาณ)

 

(Image credits: Shutterstock)

กรุงเทพฯ - 28 พฤษภาคม 2563 -

สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้ประกาศความร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์เพื่อจัดตั้ง “กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์” ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือกับบุคลากรในวงการ ดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
โรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยทั้งกองถ่ายทำภาพยนตร์-ละครและการผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนมากต่างต้องหยุดชะงักลง ทำให้ทั้งนักแสดงและบุคลากรเบื้องหลังจำนวนมากต้องหยุดงานและขาดรายได้ ด้วยเหตุนี้ ทางสมาพันธ์ภาพยนตร์จึงได้ร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์เพื่อก่อตั้งกองทุนเยียวยาสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์นี้ โดยในโอกาสนี้ ทางเน็ตฟลิกซ์เอง ได้ร่วมสนับสนุนเงินทุนเป็นจำนวน 16 ล้านบาท

 

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้กล่าวว่า “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ในฐานะตัวแทนอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเดือดร้อนทุกข์ยาก ของทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อันเกิดจากภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรอาชีพอิสระในสายการผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทย สมาพันธ์ภาพยนตร์ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสระดมกำลังเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพ ในอุตสาหกรรม ภาพยนตร์และละครไทยที่กำลังประสบปัญหาอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก Netflix สมาพันธ์ภาพยนตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับเพื่อนๆบุคลากรในวงการในช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19นี้ ได้บ้างไม่มากก็น้อย”

 

นางไมลีตา อากา ผู้อำนวยการฝ่าย Content Acquisition เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ออสเตรเลีย เน็ตฟลิกซ์ กล่าวว่า “เราขอขอบคุณคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับการทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าประทับใจจากประเทศไทยให้เราได้รับชมกันบนเน็ตฟลิกซ์ ความร่วมมือกับ สมาพันธ์ภาพยนตร์ ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะก้าวเข้ามาสนับสนุนพี่น้องในวงการบันเทิง ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงนี้”

 

กองทุนนี้จะเปิดให้ลูกจ้างอิสระและผู้ที่ทำงานเป็นรายโปรเจกต์ เช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ควบคุมไมค์บูม และตำแหน่งอื่น ๆ ในกองถ่ายภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทย ได้ยื่นขอรับ ความช่วยเหลือผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

 

รายละเอียดของกองทุนเยียวยา

คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน: ต้องเป็นลูกจ้างอิสระ (Freelance) ในกระบวนการการผลิตภาพยนตร์ หรือ ละครโทรทัศน์ในไทยโดยสามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่า งานที่ตนทำอยู่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกหรือเลื่อนการผลิตออกไปนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา (ช่วงเวลาเดียวกับการประกาศ พรก. สถานการณ์ฉุกเฉิน) ต้องไม่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานให้กับสายการผลิตของเน็ตฟลิกซ์อยู่ ณ เวลานี้ หรือได้รับเงินเยียวยาจากเน็ตฟลิกซ์ก่อนหน้านี้และเป็นผู้ถือสัญชาติไทยหรือ ผู้มีถิ่นพํานักถาวรในประเทศไทย โดยลูกจ้างอิสระ ที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยา มีดังต่อไปนี้:

ฝ่ายแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟค - ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น 2D/3D แอนิเมเตอร์ นักวาดสตอรี่บอร์ด นักวาดคอนเซ็ปต์อาร์ต ช่าง2D/3D VFX นักตัดต่อ VFX ผู้ประสานงานฝ่าย VFX ผู้ช่วยช่างเทคนิคฝ่าย VFX และอื่นๆ

ฝ่ายศิลป์ - ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบฉาก ผู้จัดการอุปกรณ์ประกอบฉากหน้ากอง ทีมงานฝ่ายจัดสร้างฉาก ทีมงานช่างก่อสร้าง ผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ และอื่นๆ

ฝ่ายเครื่องแต่งกาย/แต่งหน้า - ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยฝ่ายเครื่องแต่งกาย ผู้ช่วยฝ่ายแต่งหน้า ผู้ช่วยฝ่ายทำผม และอื่นๆ

ฝ่ายบริหารจัดการกองถ่าย - ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับที่สองและที่สาม ผู้ช่วยฝ่ายบัญชี แคชเชียร์ประจำกองถ่าย ผู้ช่วยฝ่ายสถานที่ และผู้ช่วยฝ่ายจัดหานักแสดง คนขับรถประจำกองถ่าย ผู้ช่วยด้านสวัสดิการ และอื่นๆ

ฝ่ายโพสต์โปรดักชั่น - ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ประสานงานฝ่ายโพสต์ ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ช่วยฝ่ายเสียง ผู้ช่วยนักปรับแต่งสี ผู้แปลสคริปต์ และอื่นๆ

ฝ่ายงานเทคนิค - ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้เก็บบันทึกไฟล์งาน ผู้ควบคุมไมค์บูม ช่างไฟ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพที่สองและที่สาม ผู้ช่วยช่างถ่ายภาพนิ่งประจำกองถ่าย ทีมงานช่างไฟและผู้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค และอื่นๆ

 

วิธีลงทะเบียน:

  1. ผู้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มใบลงทะเบียนและมีหนังสือรับรองการทํางานจากผู้ว่าจ้างงานเพื่อใช้เป็น เอกสารยืนยันว่างานที่ตนทําอยู่ได้รับผลกระทบ
  2. แบบฟอร์มใบลงทะเบียนและหนังสือรับรองการทํางานดาวน์โหลด >>> คลิกใบลงทะเบียนและหนังสือรับรองการทํางาน
  3. ส่ง (1) ไฟล์แบบฟอร์มการลงทะเบียนที่กรอกรายละเอียดสมบูรณ์ครบถ้วนพร้อม (2) หนังสือรับรอง การทํางาน (3) สําเนาบัตรประชาชนหรือสําเนาหนังสือเดินทาง และ (4) สําเนาหน้าสมุดธนาคาร นําส่งไฟล์เอกสารทั้งหมด ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ลิ้งค์ คลิก >>> Google Form <<< (ซึ่งประกาศบนหน้าแรก ของเว็บไซด์ของสมาพันธ์ภาพยนตร์ www.mpc.or.th) ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563

 

วัน-เวลาเปิดลงทะเบียนขอรับสิทธิ์:

วันที่ 4 มิถุนายน เวลา 12:00 น. ถึงวันที่ 11 มิถุนายน เวลา 23:59 น. หรือจนกว่าจะมีผู้สมัครเต็มตามกำหนด ทั้งนี้ผู้ลงทะเบียนต้องกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม ลงทะเบียนตามไฟล์ที่ดาวน์โหลดจาก www.mpc.or.th ให้สมบูรณ์ครบถ้วนจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณา การพิจารณาผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจะพิจารณาจากแบบฟอร์มใบลงทะเบียนที่สมบูรณ์ครบถ้วนพร้อมด้วยเอกสารทั้งหมดที่ระบุในวิธีการลงทะเบียนและลําดับ การยื่นแบบฟอร์มตามวันและเวลาที่ยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ที่ลิ้งค์ คลิก >>> Google Form <<< เท่านั้น

 

ทั้งนี้การพิจารณาของ คณะกรรมการพิจารณาผู้รับสิทธิ์การเยียวยา ของสมาพันธ์ภาพยนตร์ถือเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้น การยื่นใบลงทะเบียนและเอกสารต่างๆตามลําดับเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่หลักประกันว่า ผู้ลงทะเบียนจะต้องได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด

 

ช่วงเวลาการยืนยันผู้รับสิทธิ์:

ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับการติดต่อจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทาง SMS และอีเมล์ถึงผลการพิจารณาภายในสองสัปดาห์หลังการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง

 

ยอดเงินบริจาค: 15,000 บาท ต่อ 1 ผู้สมัคร

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสมาพันธ์ภาพยนตร์ ที่: เบอร์โทร: 02-6439100 อีเมล์: info@mpc.or.th

 

เกี่ยวกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (สสภช) สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นองค์กรกลางภาคเอกชนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 โดยมีวัตถุประสงค์เน้นความสามัคคีในองค์กร สร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันของคนในอุตสาหกรรม ผลักดันอุตสาหกรรมก้าวไกลสู่สากลได้สำเร็จ ปัจจุบันมีสมาชิกประเภทนิติบุคคลองค์กร 13 สมาคม และสมาชิกประเภทนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาอีกกว่า 200 ราย เป็นผู้จัดการประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “สุพรรณหงส์”และคัดเลือกภาพยนตร์ไทย ส่งเข้าร่วมประกวดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

 

เกี่ยวกับเน็ตฟลิกซ์ Netflix คือผู้นำบริการสตรีมมิ่งความบันเทิงระดับโลกที่มีสมาชิกจ่ายเงินรับชมกว่า 183 ล้านคนในจำนวนกว่า 190 ประเทศ มีผู้ชมซีรีส์ สารคดี และภาพยนตร์หลากหลายแนวและในหลายภาษา สมาชิกสามารถรับชม ได้จุใจทุกที่ทุกเวลาผ่านหน้าจออุปกรณ์ใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งเล่น หยุดรับชมชั่วคราว และกลับมารับชมต่อได้โดยไม่มีโฆษณาคั่นหรือข้อผูกมัดใดๆ

............................................................

ดาวน์โหลด : คู่มือสำหรับการลงทะเบียน กองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้