รางวัล "สุพรรณหงส์" รางวัลสำหรับบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทย มีอายุยาวนานกว่า 30 ปี โดย สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ร่วมมือกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมนักประชาสัมพันธ์ และองค์กรอื่นๆ ในแวดวงบันเทิงและสื่อสาร จัดพิธีประกาศผล "รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ" ครั้งที่ 1 สำหรับการตัดสินรางวัลภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2521 และ 2522 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร และจัดต่อมาอีก 6 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 7 ในปี 2531
วงการภาพยนตร์ไทยไม่ได้จัดการประกวดและมอบรางวัลสำหรับภาพยนตร์ไทยอยู่ประมาณ 3 ปี จึงได้กลับมาจัดใหม่อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ "รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ" โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี) และกรมประชาสัมพันธ์ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ตัวรางวัลเป็นสัญลักษณ์ "ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สร้างผลงานภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม และชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัล จนเป็นดาวดวงเด่นของปี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติครั้งแรก ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 25 มกราคม 2535
รางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว ถูกใช้จนกระทั้งในการประกาศผลรางวัลสำหรับผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2542 และเปลี่ยนเป็นรางวัลสุพรรณหงส์ โดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ในวาระการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 44 พ.ศ. 2542 ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง "นางนาก" กลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งรางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว จากงานประกวดภาพยนตร์แห่งชาติประจำปี 2542 และรางวัลสุพรรณหงส์ จากงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก
ในปี พ.ศ. 2544 สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่ได้จัดงานประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 มีจำนวนค่อนข้างน้อย สมาคมสมาพันธ์ฯ จึงจัดเพียงงานมอบรางวัลพิเศษ ในวันที่ 4 เมษายน 2544
งานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 สำหรับผลงานภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 และ 2544 รวมกัน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่องานว่า "การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์" ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ใช้ต่อมาจนปัจจุบัน